นิราศสุพรรณ ๑
นิราศสุพรรณแต่งขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๓๗๔ ในระหว่างที่สุนทรภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ วัตถุประสงค์ในการเดินทางคือเพื่อหาแร่ชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาแปรธาตุชนิดอื่นได้ พูดง่ายๆ คือสุนทรภู่ “เล่นแร่แปรธาตุ” นั่นเอง
นิราศเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง ทำนองจะลบคำสบประมาทว่าแต่งได้แต่เพียงกลอน ในนิราศเรื่องนี้ จะพบว่าสุนทรภู่แต่งโคลงกลบทไว้หลายต่อหลายรูปแบบ และยังเป็นโคลงที่มีสัมผัสในเหมือนอย่างกลอนที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า สุนทรภู่ใช้คำเอกโทษ โทโทษ เปลืองที่สุด ด้วยหมายจะคงความหมายดังที่ต้องการ ส่วนการรักษารูปโคลงเป็นเพียงเรื่องรอง ทำให้ได้รสชาติในการอ่านโคลงไปอีกแบบหนึ่ง เพราะต้องเดาด้วยว่าสุนทรภู่ต้องการจะเขียนคำว่าอะไร
การเดินทางในครั้งนี้เหนื่อยยากหนักหนาแทบจะเอาชีวิตไม่รอด สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรกลับมา สุนทรภู่ได้เขียนเตือนบุตรหลานทั้งหลาย ในโคลงก่อนบทสุดท้ายของนิราศ คือบทที่ ๔๖๑ ว่า
” หวังไว้ให้ลูกเต้า เหล่าหลาน
รู้เรื่องเปลืองป่วยการ เกิดร้อน
อายุวัฒนะขนาน นี้พ่อขอเอย
แร่ปรอทยอดยากข้อน คิดไว้ให้จำ”